องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพลับพลา
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพลับพลา
สภาพทั่วไป

 

สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน

1.   ด้านกายภาพ

 

1.1   ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชนหรือตำบล

 

              ตำบลเมืองพลับพลา เดิมเป็นส่วนหนึ่งของตำบลงิ้ว และได้แยกมาจัดตั้งขึ้นเป็นตำบลตั้งแต่ พ.ศ. 2504   มีชื่อตำบลมาจากเรื่องราวปรัมปราในสมัยโบราณของกษัตริย์ขอมพระนามว่าท้าวปาจิต ซึ่งได้ออกตามหานางอรพิมพ์ที่อยู่เมืองพิมาย ระหว่างทางได้หยุดพักและสร้างพลับพลาเป็นเมืองที่ประทับ ณสถานที่ตั้งตำบลแห่งนี้ และยังมีหลักฐานเป็นคูเมืองสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันตำบลมีสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 16 องศา และเส้นแวงที่ 102 องศา 33 ลิปดา ถึง 102 องศา 38 ลิปดา ตะวันออก อยู่ห่างจากอำเภอห้วยแถลงประมาณ 7 กิโลเมตร มีอาณาเขตตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 87 ตอนที่ 92 หน้า 2879 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2513

              องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพลับพลาเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง   และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น   “องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพลับพลา” เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2540  ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล  พ.ศ. 2537 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา  เล่มที่  116  ตอนที่ 9 ก  วันที่  24  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2542ครอบคลุมพื้นที่  13  หมู่บ้าน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดนครราชสีมา  ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 (นครราชสีมา – บุรีรัมย์)   เป็นระยะทางประมาณ 69  กิโลเมตร โดยเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดบุรีรัมย์

 

 1.2   ลักษณะภูมิประเทศ

             พื้นที่ส่วนใหญ่   มีลักษณะเป็นที่ราบสูง   สลับที่ดอน  ไม่มีภูเขา  ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายขาดความอุดมสมบูรณ์   มักแห้งแล้งเนื่องจากฝนทิ้งช่วง   มีลำน้ำสำคัญไหลผ่านตำบล ได้แก่ลำห้วยแถลงลำห้วยยะหยาน  ลำห้วยงิ้วผึ่ง  ลำห้วยทะลุ  ลำห้วยติ้ว  และลำห้วยทะยูง

 

 1.3   ลักษณะภูมิอากาศ

             ลักษณะภูมิอากาศขององค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพลับพลา  แบ่งออกได้เป็น  3  ฤดูได้แก่  ฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม  โดยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึงพัดพาเอามวลอากาศชื้นมาจากมหาสมุทรอินเดีย ฤดูหนาว เริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือน พฤศจิกายนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์  โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งพัดเอามวลอากาศเย็นและแห้งมาจากซีกโลกเหนือแถบประเทศมองโกเลียและจีน  จากนั้นเมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดลงก็จะเข้าสู่ฤดูร้อน  ในช่วงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 


1.4   ลักษณะของดิน

            บางพื้นที่ลักษณะของดินจะเป็นดินร่วนปนทรายขาดความอุดมสมบูรณ์   ซึ่งมักแห้งแล้งเนื่องจากฝนทิ้งช่วง และบางพื้นที่จะเป็นดินร่วนปนดินเหนียว

   
1.5 ลักษณะของแหล่งน้ำ

แหล่งน้ำธรรมชาติ
-  ห้วย / ลำธาร 175 แห่ง
-  หนอง / บึง 2 แห่ง
-  แม่น้ำ / ลำคลอง 6 แห่ง
แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น
-  อ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง
-  ฝาย / พนังกั้นน้ำ 6 แห่ง
-  บ่อน้ำตื้น / บ่อขุดส่วนตัว 129 แห่ง
-  บ่อน้ำบาดาล / บ่อตอก / บ่อเจาะ 45 แห่ง
-  ถังเก็บน้ำฝน 21 แห่ง
-  ประปาหมู่บ้าน    10 แห่ง